ใบแปะก๊วยแห้ง แปะก๊วยเป็นพืชที่มีการใช้มานานกว่า 5,000 ปี ทั้งในแถบเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และนิวซีแลนด์ โดยส่วนที่ใช้คือใบ แปะก๊วยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ginkgo Biloba L. อยู่ในวงศ์ Ginkgoaceae
สารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (ginkgo-flavone glycosides) และเทอร์ปีน ได้แก่ ginkgolides และ bilobalides โดยแปะก๊วยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงเช่นเดียวกับโสม คือเพิ่มเอนไซม์กำจัดอนุมูลอิสระ และจับโลหะหนักทั้งในเซลล์ทั่วไปและเซลล์สมองด้วย นอกจากนี้แปะก๊วยยังมีฤทธิ์ปกป้องการตายของไมโทคอนเดรียจากกลไกต้านอนุมูลอิสระ และเพิ่มการอยู่รอดของ DNA ในไมโทคอนเดรีย จากการเพิ่มการทำงาน telomerase ทำให้ลดการเกาะกลุ่ม protein kinase Akt ชะลอการเสื่อมของ endothelial progenitor cells (EPCs) ที่เป็นตัวตั้งต้นการสร้างหลอดเลือด แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าแปะก๊วยยับยั้งการรวมกลุ่มของเกล็ดเลือดได้เช่นกัน
สารสกัดในใบแปะก๊วยในโมโนกราฟ ของเยอรมันซึ่งมีชื่อว่า Ginkgo Biloba Leaf Extract ระบุว่า สารสกัดนี้มี * ฟลาโวนไกลโคไซด์ (Flavone Glycoside) 22-27% * เทอร์ปีนแลคโตน (Terpene Lactone) 5-7% * กิงโกไลด์เอ กิงโกไลด์บี และ กิงโกไลน์ซีประมาณ 2.8-3.4% * ไบโลบาไลด์ประมาณ 2.6-3.2% * กรดกิงโกลิก (Ginkgolic Acid) ต่ำกว่า 5 mg/kg (สารนี้ก่อให้เกิดอาการแพ้) สารสกัดใบแปะก๊วยจากประเทศเยอรมันีที่นิยมนำมาใช้ในการศึกษาทางคลีนิก
ในแนวทางเวชปฏิบัติของไทยมีการศึกษาจำนวนมากที่ยืนยันประสิทธิภาพของแปะก๊วยต่อการเพิ่มความจดจำและคะแนนประเมินประสิทธิภาพในการรักษาภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ระดับน้อยถึงปานกลาง การใช้แปะก๊วยอาจให้ผลดีต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อให้เสริมกับการรักษาหลัก แต่อาจไม่ได้ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตในมนุษย์ ด้านความปลอดภัยหลายการศึกษาสรุปว่าแปะก๊วยไม่ได้เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ตับแต่ผลในการเกิดเลือดออกก็ยังเป็นสิ่งที่ควรระวังอีกทั้งควรเลือกแปะก๊วยที่มีการผลิตที่น่าเชื่อถือเพื่อลด ginkgotoxin ที่อาจปนเปื้อนในใบแปะก๊วยเนื่องจากส่งผลต่อการทำงานของ pyridoxine เป็นผลให้เกิดพิษต่อระบบประสาท และควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเนื่องจากเสริมฤทธิ์กันอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า เลือดหยุดไหลยากได้
สารสกัดใบแปะก๊วย หรือ EGb 761 สามารถยับยั้งการรวมกลุ่มของ β-amyloid-peptide (Aβ) และความเสียหายจากสารอนุมูลอิสระต่อเซลล์สมองได้ สารสกัดใบแปะก๊วย EGb 761 มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลางตามแนวทางเวชปฏิบัติภาวะสมองเสื่อมของประเทศไทย โดยแนะนำขนาดเริ่มต้น 120 mg/วัน และปรับจนถึง 240 mg/วัน * การศึกษาของใบแปะก๊วยต่อภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์มีจำนวนมาก จากงานวิจัยการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ในปี ค.ศ. 2014 พบว่าการรับประทานใบแปะก๊วยในระยะเวลาประมาณ 22-26 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพการรักษาโรคอัลไซเมอร์รวมถึงภาวะสมองเสื่อม สามารถชะลอการลดลงของคะแนนประเมินได้ –0.52 หน่วย (95% CI –0.98, –0.05) และเพิ่มประสิทธิภาพการทำกิจวัตรประจำวันได้แต่พบประสิทธิภาพในการรักษาในกลุ่มที่ได้รับแปะก๊วย 240 mg/วัน เท่านั้น สอดคล้องกับงานวิจัยการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ในปี ค.ศ. 2016 ในผู้ป่วยสมองเสื่อมพบว่าการใช้แปะก๊วยให้ผลชะลอการลดลงของคะแนนประเมินประสิทธิภาพการรักษาสมองเสื่อมด้วยแบบประเมิน SKT (short cognitive performance test) ได้ดีกว่ายาหลอกถึง -2.08 คะแนน (95% CI -2.40,-1.76) และลดความเครียดของผู้ดูแลได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อคำนวณจำนวนผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเพื่อให้ตอบสนองการรักษา (number needed to treat: NNT) ของการรักษาสมองเสื่อมแล้วพบว่า การใช้แปะก๊วยมีค่า NNT 4-5 ในทุก ๆ คะแนนประเมินประสิทธิภาพการรักษาสมองเสื่อม * หลายงานวิจัยพยายามอธิบายผลของการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดของแปะก๊วยในด้าน 1) ลดระดับน้ำตาลในเลือด จากกลไกลดอนุมูลอิสระในตับอ่อน เพื่อความการอยู่รอดของ β-cells เพิ่ม insulin receptor และ glucose transporter-3 และเพิ่ม PI-3 kinase (PI3K) เพื่อเพิ่มการนำน้ำตาลเข้าเซลล์กล้ามเนื้อเช่นเดียวกับการกระตุ้น AMPK 2) ลดระดับไขมันในเลือดจากการกระตุ้น AMPK เพื่อเพิ่มการสลายไขมัน 3) ลดความดันโลหิตจากการลด TNF-α, IL-6 และ IL-1β ในไต เพิ่มการสร้าง nitric oxide * ผลการศึกษาในการลดระดับน้ำตาลแตกต่างออกไป โดยในปี ค.ศ. 2018 มีการรายงานการใช้แปะก๊วย 120 mg/วัน ร่วมกับ metformin ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ (HbA1c 8-10%) และเป็นเบาหวานมาไม่เกิน 5-7 ปี พบว่าการเพิ่มแปะก๊วยเข้ามาร่วมกับการรักษาหลักคือ metformin ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการลด HbA1c (7.7%±1.2% vs 8.6%±1.6%, p<0.001) ระดับอินซูลินในเลือดลดลงซึ่งแสดงถึงการนำ insulin ไปใช้ได้มากขึ้น (13.4±7.8 μU/mL vs 18.5±8.9 μU/mL, p =0.006) ลดดัชนีมวลกาย (31.6±5.1 vs 34.0±6.0, p<0.001) และดัชนีไขมันหน้าท้อง (158.9±67.2 vs 192.0±86.2 , p=0.007) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับ baseline ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับ metformin ร่วมกับยาหลอกที่มีค่าทั้งหมดไม่แตกต่างจาก baseline
ที่มา : พินิจ จันทรและคณะ, กฤษฏิ์ วัฒนธรรม