แปะใจ๊(เจ็ง) เหง้าและรากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cynanchum stautoni (Decne.) Schltr. ex Levl., C. glaucescens (Decne.) Hand.-Mazz. วงศ์ Asclepiadaceae
ในสมัยโบราณเตรียมโดยการนำตัวยามาแช่ในน้ำต้มชะเอมเทศเพื่อช่วยปรับฤทธิ์ของตัวยาให้สุขุมและลดพิษจากตัวยา จากนั้นนำไปใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด นึ่งจนกระทั่งน้ำชะเอมเทศซึมเข้าเนื้อในตัวยา แล้วนำไปผัดจนกระทั่งตัวยาแห้ง แต่ปัจจุบันใช้วิธีผัดธรรมดาหรือผัดกับน้ำผึ้งแทน เนื่องจากสรรพคุณหลักของไป๋เฉียน คือ ระงับอาการไอ และ ขับเสมหะ ดังนั้น ในการเผ้าจื้อจึงนิยมใช้วิธีผัดด้วยน้ำผึ้งแทน เตรียมโดยนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์มาเจือจางด้วยน้ำต้มในปริมาณที่เหมาะสม ใส่ไป๋เฉียนที่หั่นเป็นชิ้นๆ อัตราส่วนตัวยาต่อน้ำผึ้ง เท่ากับ 4:1 แล้วคลุกให้เข้ากัน หมักไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าไปในตัวยา จากนั้นนำไปผัดในภาชนะที่เหมาะสมโดยใช้ไฟอ่อนๆ ผัดจนกระทั่งมีสีเหลืองเข้มและไม่เหนียวติดมือ นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
ช่วยให้ชี่ลงตํ่า ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอมีเสมหะมาก แน่นหน้าอก หอบ