ฉั่งฉิก ฉั่งฉิก เคยได้รับสมญานามว่า "ไข่มุกแห่งยาจีน" ทั้งนี้เพราะสรรพคุณที่เป็นเลิศไม่แพ้โสมคนนั่นเอง ฉั่งฉิกมักเรียกอีกอย่างว่า "ซาฉิก" แปลว่า "สามเจ็ด" ซึ่งชื่อนี้ได้มาจากลักษณะของต้นซึ่งมีก้านใบสามก้าน แต่ละก้านมักจะมีใบประมาณ 7 ใบ ฉั่งฉิกกับโสมคนเป็นพืชตระกูลเดียวกัน รูปลักษณะของต้น รากก็คล้ายคลึงกัน ฉะนั้นจึงมีอีกชื่อว่า "เซียมซาฉิก" หรือแปลว่า "โสมสามเจ็ด" นั่นเอง ที่ว่าฉั่งฉิกมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศนั้นได้มีการบันทึกในตำราเภสัชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีน "ปิ้งเช่ากังมัก" ได้เรียกฉั่งฉิกว่าเป็น "กิมปุ๊ยห่วง" ความหมายคือ แม้เอาทองคำมาแลกก็ไม่ได้ ฉั่งฉิกมีมากในมณฑล กวางสี ยูนนาน กวางตุ้ง ในฮกเกี้ยนก็มีปลูกบ้าง ในฉั่งฉิกพบว่ามีสารจำพวก Saponin อยู่ประมาณ 12% ซึ่งสาร soponin นี้เป็นชนิดเดียวกับที่พบในโสมคน แต่มีปริมาณต่ำกว่า ฉั่งฉิกมีรสหวานขมเล็กน้อย มีลักษณะร้อนเล็กน้อย ชาวจีนรู้จักใช้เป็นยามากกว่าเจ็ดร้อยปีแล้ว เป็นยาสำคัญในการรักษาบาดแผล ในตำราเภสัชศาสตร์ "ปิ้งเช่ากังมักจั๊บหยุ่ย" ซึ่งเขียนโดย "เตี๋ยฮักเมี่ยง" สมัยราชวงศ์ชิง กลาวว่า โสมคนเสริมกำลังเป็นที่หนึ่ง ฉั่งฉิกบำรุงเลือดเป็นที่หนึ่ง ยาทั้งสองรสชาติเหมือนกัน และสรรพคุณก็เท่ากันด้วย ฉั่งฉิกยังเป็นตัวยาสำคัญใน "ยาผงขาวยูนนาน" ด้วย