ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรท้องถิ่นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย จีน ศรีลังกา และ ไทย ในประเทศไทย ได้บรรจุฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชียาจากสมุนไพร) ของกระทรวงสาธารณสุข ในหมวดหมู่ ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหาร และ ระบบทางเดินหายใจ
ปัจจุบันมีการนำฟ้าทะลายโจรมาทำเป็นยาลูกกลอนหรือใส่แคปซูลเพื่อความสะดวกในการรับประทาน
สารสำคัญ
ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยาสมุนไพร เป็นสารในกลุ่ม Lactone ได้แก่ Andrographolide, NeoAndrographolide และ 14-deoxy-andrographolide โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ใบสด ใบแห้ง และ ทั้งต้น โดยใบจะเก็บมาใช้ได้เมื่อต้นมีอายุประมาณ 3-5 เดือน
ในเภสัชตำรับของประเทศไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) กำหนดให้วัตถุดิบฟ้าทะลายโจรจะต้องประกอบด้วยสารกลุ่ม Lactone ทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 6% ปริมาณสาร Andrographolide ไม่น้อยกว่า 1%
ข้อบ่งใช้
จากบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชียาจากสมุนไพร) ระบุข้อบ่งใช้ของฟ้าทะลายโจรไว้ดังนี้
- บรรเทาอาการเจ็บคอ
- บรรเทาอาการของโรคหวัด (Common Cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
วิธีรับประทาน
รับประทานครั้งละ 1.5 - 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
- บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือ มีเลือดปน
วิธีรับประทาน
รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม - 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
ข้อห้ามใช้
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร
- ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร
- ห้าใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับแก้เจ็บคอในกรณ๊ต่างๆ ดังนี้
- ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากการติดเชื้อ Streptococcus group A
- ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบ เนื่องจากเคยติดเชื้อ Streptococcus group A
- ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค
บทความโดย ภก.ณัฐพงษ์ สายแก้ว